ชื่อหลักสูตร
(ภาษาไทย) หลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิศวกรรมเครื่องกล
(ภาษาอังกฤษ) Bachelor of Engineering Program in Mechanical Engineering
ชื่อปริญญาและสาขาวิชา
(ภาษาไทย:ชื่อเต็ม) วิศวกรรมศาสตรบัณฑิต
(ภาษาไทย :อักษรย่อ) วศ.บ.
(ภาษาอังกฤษ : ชื่อเต็ม) Bachelor of Engineering
(ภาษาอังกฤษ :อักษรย่อ) B.Eng.
ชื่อสาขาวิชาที่ระบุใน TRANSCRIPT
FIELDS OF STUDY : Mechanical Engineering
ลักษณะและประเภทของหลักสูตร
เป็นหลักสูตรระดับปริญญาตรี ระยะเวลา 4 ปี
ประเภทของหลักสูตร
เชิงการจัดการ หลักสูตรปกติ
เชิงการจัดเก็บเงิน หลักสูตรปกติ
จำนวนหน่วยกิตที่เรียนตลอดหลักสูตร 148 หน่วยกิต
อาชีพที่สามารถประกอบได้หลังสำเร็จการศึกษา
บัณฑิตสามารถทำงานที่มีความเกี่ยวข้องกับสาขาวิชาวิศวกรรมเครื่องกลในโรงงานอุตสาหกรรม หน่วยงานเอกชน หน่วยงานของรัฐบาล รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน และหน่วยงานวิจัยทั้งในประเทศและต่างประเทศ
เอกสารปฐมนิเทศ
ปรัชญา ความสำคัญวัตถุประสงค์ของหลักสูตรและคุณลักษณะบัณฑิตที่พึงประสงค์
1.1 ปรัชญาของหลักสูตร
ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกลมีเป้าหมายในการผลิตบัณฑิต ที่มีความสามารถเป็นผู้นำทั้งในด้านวิชาชีพและวิชาการทางด้านวิศวกรรมเครื่องกล เพื่อสนองตอบต่อความต้องการของภาครัฐ ภาคเอกชน และวงการการศึกษา ทั้งในประเทศและในระดับภูมิภาค หลักสูตรมุ่งเน้นการผลิตบัณฑิตให้มีทั้งความรู้ ทักษะ และทัศนคติที่จำเป็นในวิชาชีพวิศวกรรมเครื่องกล เป็นผู้ที่ครองตนได้อย่างมีสติ ปัญญา คุณธรรม และจริยธรรม และยึดแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในการดำเนินชีวิต
1.2 ความสำคัญของหลักสูตร
ปัจจุบันเทคโนโลยีทางด้านวิศวกรรมเครื่องกลมีการพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว ดังนั้นเราจึงต้องการบุคลากรที่มีความรู้ ความสามารถ และศักยภาพที่สามารถรองรับงานทางด้านวิศวกรรมเครื่องกลในภาคอุตสาหกรรม ซึ่งรวมถึงงานการออกแบบ การพัฒนา และวิจัยสำหรับเทคโนโลยีได้
1.3 วัตถุประสงค์ของหลักสูตร
วัตถุประสงค์การศึกษาของหลักสูตร (Program Education Objective, PEO) ได้ถูกกำหนดขึ้นตามการแนะนำของผู้มีส่วนได้เสีย คือ ผู้ใช้บัณฑิต คณาจารย์ ศิษย์เก่า บัณฑิต นิสิตปัจจุบัน ร่วมกับ วิสัยทัศน์และปรัชญาการสร้างบัณฑิตของมหาวิทยาลัย
วัตถุประสงค์ของหลักสูตรเดิม (พ.ศ. 2559)
1. เพื่อผลิตบัณฑิตที่มีความรู้และความเข้าใจพื้นฐานด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์กายภาพ รวมถึงบทบาท ความสำคัญ และความสัมพันธ์ระหว่างศาสตร์ทั้งสองด้าน อันเป็นรากฐานและองค์ประกอบที่สำคัญของศาสตร์ทางด้านวิศวกรรมเครื่องกล
2. เพื่อผลิตบัณฑิตที่มีความรู้และความเข้าใจพื้นฐานของศาสตร์ทางด้านวิศวกรรมเครื่องกล และระบบทางวิศวกรรมเครื่องกล รวมถึงบทบาท ความสำคัญ และความสัมพันธ์ระหว่างเครื่องมือวิเคราะห์ (Analytical tools) ต่อการวิเคราะห์ระบบทางกายภาพ และแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ (Physical system and mathematical models) ทางวิศวกรรมเครื่องกล อันเป็นรากฐานและองค์ประกอบที่สำคัญในการศึกษาระบบทางวิศวกรรมเครื่องกลโดยกระบวนการทดลอง การวิเคราะห์ การสังเคราะห์ การออกแบบ การพัฒนา และการวิจัย
3. เพื่อผลิตบัณฑิตที่มีความสามารถและทักษะในการประยุกต์ความรู้และความเข้าใจพื้นฐานของศาสตร์ทางด้านวิศวกรรมเครื่องกลและระบบทางวิศวกรรมเครื่องกล รวมทั้งมีความสามารถ ทักษะ และความคิดสร้างสรรค์ในการศึกษาระบบทางวิศวกรรมเครื่องกลโดยกระบวนการทดลอง การวิเคราะห์ การสังเคราะห์ การออกแบบ การพัฒนา และการวิจัย อันเป็นรากฐานและองค์ประกอบที่สำคัญในการประกอบวิชาชีพทางด้านวิศวกรรมเครื่องกลอย่างมีประสิทธิภาพ
4. เพื่อผลิตบัณฑิตที่มีความรู้ทางด้านสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และวัฒนธรรม รวมทั้งมีความสามารถและทักษะในการสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพ และมีความเข้าใจและตระหนักในบทบาทและความสำคัญของวิชาชีพต่อสังคม อันเป็นรากฐานและองค์ประกอบที่สำคัญในการประกอบวิชาชีพทางด้านวิศวกรรมเครื่องกลในสังคมอย่างมีประสิทธิภาพ
5. เพื่อเตรียมความพร้อมให้แก่บัณฑิตในการประกอบวิชาชีพ การศึกษาต่อในระดับปริญญาขั้นสูง และการวิจัย อันเป็นรากฐานและองค์ประกอบที่สำคัญในการเป็นผู้นำทางด้านวิชาชีพและการสร้างองค์ความรู้ทางด้านวิศวกรรมเครื่องกลให้แก่สังคม
วัตถุประสงค์ของหลักสูตรปรับปรุง (พ.ศ. 2561)
1.สร้างบัณฑิตที่สามารถประยุกต์ใช้ศาสตร์ทางวิศวกรรมเครื่องกลในการดำเนินงานพัฒนาบนพื้นฐานงานวิจัย และสร้างสรรค์นวัตกรรม ให้ลุล่วงไปอย่างมีคุณภาพ
2.มีภาวะการเป็นผู้นำและทำงานเป็นทีมที่มีลักษณะเป็นสหสาขา
3.สามารถสื่อสารและปรับตัวให้เหมาะสมกับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี สังคม วัฒนธรรม
4.มีความรับผิดชอบกับผลกระทบของงานต่อสังคม
1.4 คุณลักษณะบัณฑิตที่พึงประสงค์
สำหรับคุณลักษณะบัณฑิตที่พึงประสงค์ของหลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิศวกรรมเครื่องกล เกิดจากการนำวัตถุประสงค์การศึกษาของหลักสูตร (PEO) มาแจกแจงให้เป็นคุณสมบัติบัณฑิตที่เป็นรูปธรรมและวัดประเมินได้ตามกรอบการจัดการเรียนการสอนแบบ CDIO (Conceive, Design, Implement, Operate) และการจัดการศึกษาแบบวิศวศึกษา 4.0 (Engineering Education 4.0) โดยกำหนดให้คุณลักษณะบัณฑิตที่พึงประสงค์คือผลลัพธ์ของหลักสูตร (Program Outcome, PO) ดังนี้
1. สามารถประยุกต์องค์ความรู้ทางคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ และวิศวกรรมเครื่องกล
1.1 สามารถประยุกต์องค์ความรู้ทางคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์
1.2 สามารถประยุกต์องค์ความรู้ทางวิศวกรรมเครื่องกล
2. สามารถดำเนินงานได้อย่างเป็นระบบสำหรับโจทย์ทางวิศวกรรมเครื่องกลที่ซับซ้อน โดยพิจารณาปัจจัยที่เกี่ยวข้องอย่างเป็นองค์รวม เช่น มาตรฐานวิชาชีพ งบประมาณ ความปลอดภัย สิ่งแวดล้อม การพัฒนาอย่างยั่งยืน สังคมวัฒนธรรม ฯลฯ โดยโจทย์ทางวิศวกรรมอยู่ภายในขอบเขตของการวิเคราะห์ การทดสอบ การออกแบบ การสร้างนวัตกรรม และการวิจัยเพื่อพัฒนา
2.1 สามารถทำความเข้าใจปัญหาและสถานการณ์ และสร้างโจทย์
2.2 สามารถวิเคราะห์โจทย์ และออกแบบแนวทางเพื่อหาคำตอบ
2.3 สามารถดำเนินการเพื่อให้ได้คำตอบของโจทย์
2.4 สามารถพิจารณาตรวจสอบคำตอบและประเมินผลกระทบของคำตอบของโจทย์
2.5 สามารถตรวจสอบโจทย์และปรับปรุงคำตอบของโจทย์จนมีคุณสมบัติและคุณภาพที่เหมาะสม
3. สามารถใช้เครื่องมือที่ทันสมัยและเหมาะสมเพื่อดำเนินงานทางวิศวกรรม
4. สามารถบริหารงานวิศวกรรม เศรษฐศาสตร์วิศวกรรมและการลงทุน มีภาวะความเป็นผู้นำ สามารถประสานงาน และทำงานเป็นทีมในบริบทสหสาขา
5. มีความสามารถและบุคลิกภาพในการสื่อสาร นำเสนอ และปรับตัวให้เข้ากับสังคม วัฒนธรรม และภาษาที่หลากหลาย
6. มีนิสัยเรียนรู้ตลอดชีวิต ใฝ่รู้ สามารถคิดวิเคราะห์ สามารถเรียนรู้และพัฒนาด้วยตนเอง อดทน ตระหนักถึงหัวข้อร่วมสมัย และสามารถปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยได้
7. มีจริยธรรม ซื่อสัตย์ จรรยาบรรณวิชาชีพ ความประพฤติและความรับผิดชอบต่อสังคมและ สิ่งแวดล้อม
จะเห็นว่าหลักสูตรให้ความสำคัญ กับการประยุกต์องค์ความรู้ การดำเนินการกิจกรรมแบบ CDIO ในบริบทจำลองสถานการณ์จริงเป็นอย่างน้อย รวมถึงทักษะและทัศนคติที่เหมือนเป็นการเรียนรู้ตลอดชีวิต และการปรับเปลี่ยนตนเองในบริบทปัจจุบันและตามเวลา
หลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิศวกรรมเครื่องกล
ระบบการจัดการศึกษาการดำเนินการและโครงสร้างของหลักสูตร
ระบบการจัดการศึกษา
1. ระบบทวิภาค ภาคการศึกษาละไม่น้อยกว่า 15 สัปดาห์
2. ระบบทวิภาค (นานาชาติ) ภาคการศึกษาละไม่น้อยกว่า 15 สัปดาห์
3. ระบบตรีภาค ภาคการศึกษาละไม่น้อยกว่า 15 สัปดาห์
*มีจัดศึกษาภาคฤดูร้อน
การลงทะเบียนเรียน
ระดับปริญญาตรี ภาคการศึกษาปกติ ไม่เกิน 22 หน่วยกิต ภาคฤดูร้อน ไม่เกิน 7 หน่วยกิต
ระดับบัณฑิตศึกษา ภาคการศึกษาปกติไม่เกิน 15 หน่วยกิต ภาคฤดูร้อน ไม่เกิน 6 หน่วยกิต
การดำเนินการหลักสูตร
วัน-เวลาในการดำเนินการเรียนการสอน
ระบบทวิภาค
ภาคการศึกษาต้น : สิงหาคม – ธันวาคม
ภาคการศึกษาปลาย : มกราคม – พฤษภาคม
ภาคฤดูร้อน : มิถุนายน – กรกฎาคม
ระบบตรีภาค
ภาคการศึกษาที่ 1 : สิงหาคม-พฤศจิกายน
ภาคการศึกษาที่ 2 : ธันวาคม-มีนาคม
ภาคการศึกษาที่ 3 : เมษายน-สิงหาคม
คุณสมบัติของผู้เข้าศึกษา
เป็นผู้สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย และเป็นไปตามระเบียบการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาและจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
การคัดเลือกผู้เข้าศึกษา
หลักสูตรระดับปริญญาตรี เป็นไปตามข้อบังคับว่าด้วยการรับนักเรียนเข้าศึกษาในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และประกาศของสมาคมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (สอท.)
หลักสูตรระดับบัณฑิตศึกษา เป็นไปตามคู่มือการสมัครเข้าศึกษาซี่งบัณฑิตวิทยาลัยจะประกาศให้ทราบในปีการศึกษานั้น หรือคณะกรรมการบริหารหลักสูตรฯ พิจารณาแล้วเห็นสมควรเข้าศึกษาได้
นิสิตรหัส 61 เป็นต้นไป ใช้หลักสูตรเครื่องกล 2561
นิสิตรหัส 59 และ 60 ใช้หลักสูตรเครื่องกล 2559
นิสิตรหัส 58 หรือก่อนหน้า ใช้หลักสูตรเครื่องกล 2554
- การประเมินผลรายวิชาใช้สัญลักษณ์ A B+ B C+ C D+ D จึงถือว่าสอบผ่าน ถ้าสอบได้เกรด F ถือว่าสอบไม่ผ่าน ถ้าเป็นรายวิชาบังคับตามหลักสูตรนิสิตจะต้องลงทะเบียนเรียนใหม่ ถ้าเป็นรายวิชาเลือกนิสิตสามารถลงทะเบียนเรียนรายวิชาอื่นแทนรายวิชาที่สอบไม่ผ่านได้ หรือบางรายวิชาใช้สัญลักษณ์ S หรือ U
- เกณฑ์การวัดผล ได้เกรดเฉลี่ยไม่น้อยกว่า 2.00
กระบวนการทวนสอบมาตรฐานผลสัมฤทธิ์ของนิสิต
- การทวนสอบมาตรฐานผลการเรียนรู้ขณะนักศึกษายังไม่สำเร็จการศึกษา
การสอบทวนมาตรฐานผลสัมฤทธิ์ของการเรียนรู้ ตามมาตรฐานผลการเรียนรู้แต่ละรายวิชานั้นอาจารย์ผู้รับผิดชอบสอนในแต่ละรายวิชา จะดำเนินการตามรายละเอียดที่กำหนดไว้ในแบบประมวลรายวิชา (Course Syllabus) นิสิตจะได้รับเอกสารในชั่วโมงแรกของชั้นเรียน และสามารถค้นหาทางอินเตอร์เน็ตได้จากระบบข้อมูลการเรียนการสอนของทางมหาวิทยาลัย และเว็บไซต์ของภาควิชาและ เพื่อการพัฒนาหลักสูตรให้ดีขึ้น จึงต้องมีการสอบถามนิสิตด้วยแบบประเมินรายวิชาและแบบประเมินตนเอง ตลอดทั้งพิจารณาจากผลการทดสอบย่อยและผลการเรียนรายวิชา
- การทวนสอบมาตรฐานผลการเรียนรู้หลังจากนักศึกษาสำเร็จการศึกษา
หลังจากสำเร็จการศึกษา การกำหนดกลวิธีการทวนผลการเรียนของนิสิต สามารถประเมินจากตัวอย่างดังต่อไปนี้
- การได้งานทำของบัณฑิต ประเมินจากระยะเวลาการได้งาน
- การประเมินความพึงพอใจของผู้ใช้บัณฑิตจากแบบสอบถาม
- การประเมินจากบัณฑิตที่ไปประกอบอาชีพหรือศึกษาต่อ ในแง่ของความพร้อมและความรู้จากสาขาวิชาที่เรียนที่เกี่ยวเนื่องกับการประกอบอาชีพ
- ความเห็นจากผู้ทรงคุณวุฒิภายนอกที่ร่วมวิเคราะห์หลักสูตร
- รางวัลที่บัณฑิตได้รับ
- ศึกษาครบตามหลักสูตร
- มีระยะเวลาการศึกษาไม่เกินที่กำหนดตามระเบียบจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ว่าด้วย ระบบการศึกษาสำหรับขั้นปริญญาบัณฑิต
- สอบได้แต้มเฉลี่ยสะสมไม่ต่ำกว่า 2.00
- มีคุณสมบัติครบถ้วนตามระเบียบจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ว่าด้วย ระบบการศึกษาสำหรับขั้นปริญญาบัณฑิต