เรื่องเล่าจากงาน Research Talk Series #2
“ศูนย์ระบบเครื่องกลชาญฉลาดเพื่อความยั่งยืนจัดกิจกรรม Research Talk Series #2 – งานวิจัยเล่าสนุก ครั้งที่ 2 มีการนำเสนอ 2 หัวข้อ คือ 1) Smart Mobility โดย ผศ. ดร.นักสิทธ์ นุ่มวงษ์ และ 2) งานวิจัยด้านเกี่ยวกับ MRV สำหรับภาคอุตสาหกรรม โดย รศ. ดร. จิตติน แตงเที่ยง เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 13 มิถุนายน 2567 ณ ห้อง MESS ตึก ME2 ชั้น 2 ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หัวข้อที่ 1 Smart Mobility โดย ผศ. ดร.นักสิทธ์ นุ่มวงษ์ ได้บรรยายว่า Smart Mobility คือ รูปแบบการเดินทางที่ชาญฉลาดเพื่อตอบโจทย์ให้คนที่อาศัยในสังคมเมืองเพื่อให้เดินทางได้สะดวก ปลอดภัย และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยระบุว่าปัจจุบันการเดินทางเป็นปัญหาที่สำคัญของเมืองใหญ่ในหลายประเทศและแต่ละเมืองมีนโยบายแก้ไขปัญหาที่แตกต่างกัน ซึ่งส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมยานยนต์ 3 รูปแบบ ได้แก่ 1) รูปแบบการเดินทางต้องดีขึ้น ลดมลพิษ พลังงานสะอาด 2) มีระบบการขับขี่ที่ฉลาดขึ้น ตอบโจทย์ความสะดวกสบาย ความปลอดภัยในการขับขี่ 3) ยานยนต์ที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้ใช้ และการที่ Smart Mobility จะเกิดขึ้นได้นั้น จะต้องได้รับความร่วมมือจากหลายหน่วยงานทั้ง 1. นโยบายของรัฐบาล 2. กลุ่มที่ให้บริการในระบบโครงสร้างพื้นฐาน (infrastructure) เช่น ระบบการศึกษาที่จะทำการวิจัย สร้างบุคลากรเพื่อจะรองรับการพัฒนา เป็นต้น และ 3. อุตสาหกรรมที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับยานยนต์ เช่น โรงงานผลิตอะไหล่รถยนต์ โรงงานผลิตรถยนต์ โรงงานผลิตแบตเตอรี เป็นต้น ทั้งนี้ ผศ. ดร.นักสิทธิ์ นุ่มวงษ์ ได้ก่อตั้ง ศูนย์ Smart Mobility เพื่อสร้างความร่วมมือกับภาควิชาต่าง ๆ ในคณะวิศวกรรมศาสตร์ และหน่วยงานภายนอกมหาวิทยาลัยเพื่อพัฒนา Smart Mobility ของไทยในอนาคตต่อไป หัวข้อที่ 2 งานวิจัยด้านเกี่ยวกับ MRV สำหรับภาคอุตสาหกรรม โดย รศ. ดร.จิตติน แตงเที่ยง ได้เล่าถึงประสบการณ์การทำงานร่วมกับภาคอุตสาหกรรม โดยอธิบายว่า MRV ย่อมาจาก Measurement Reporting Verification ซึ่งเป็นการตรวจวัดค่าที่หน้างานจริงเพื่อรวบรวมข้อมูลและเขียนรายงานผล เพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมนำไปประกอบตัดสินใจในกระบวนการผลิตและพัฒนาผลิตภัณฑ์ต่อไป หรือเพื่อให้หน่วยงานภาครัฐนำข้อมูลที่ได้ไปใช้ในการกำหนดทิศทางการดำเนินงานของภาคอุตสาหกรรมในประเทศ รวมถึงการนำข้อมูลมาใช้เพื่อเปรียบเทียบกับมาตรฐานสากล”